By. BeaU

วันพุธที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2555

จุลินทรีย์ในอาหารกระป๋อง


จุลินทรีย์ในอาหารกระป๋อง




       เชื่อว่าหลายๆคนคงมีปลากระป๋องติดห้องเอาไว้กินยามหิว หรือกินกับมาม่าอย่างแน่นอน เมนูยอดฮิตสำหรับนักศึกษาที่อยู่หอพัก เชื่อหรือไม่ว่ามีอันตรายแฝงอยู่
อาหาร กระป๋องเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่คนไทยส่วนใหญ่นิยมบริโภค เนื่องจากหาซื้อได้ง่าย สะดวกต่อการบริโภคและพกพา อีกทั้งยังสามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน อาหารกระป๋องในท้องตลาดมีให้เลือกบริโภคอยู่หลายชนิด ทั้งผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ข้าว และอาหารทะเล ในรูปของวัตถุดิบและอาหารสำเร็จรูป
โดยทั่วไปจะแบ่งอาหารกระป๋อง โดยใช้ค่าความเป็นกรดด่างเป็นเกณฑ์ ออกเป็น 2 ประเภท คือ

1.อาหารกระป๋องที่มีความเป็นกรด (Acid canned food) มีค่า pH ต่ำกว่า 4.5 เช่น ผลไม้กระป๋อง

2.อาหารกระป๋องที่มีความเป็นกรดต่ำ (Low-acid canned food) มีค่า pH สูงกว่า 4.5 เช่น อาหารทะเลกระป๋อง แกงสำเร็จรูปกระป๋อง ผักกระป๋อง หน่อไม้อัดปี๊บ ข้าวโพดกระป๋อง เนื้อสัตว์แปรรูปกระป๋อง
อย่างไรก็ตามการบริโภคอาหารกระป๋องมีข้อพึงระวังที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากมีอันตรายที่แฝงอยู่ ซึ่งมาจากสารเคมีที่ใช้เคลือบกระป๋อง สีผสมอาหาร วัตถุกันเสีย เชื้อโรคและสารพิษที่มีความรุนแรงจนอาจทำให้เสียชีวิตได้


คลอสตริเดียม โบทูลินัม (Clostridium botulinum) เป็นแบคทีเรียชนิด แกรมบวก รูปร่างเป็นท่อน สร้างสปอร์ซึ่งทนต่ออุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส ได้นาน 5-10 ชั่วโมง เจริญเติบโตไดที่อุณหภูมิ 30-37 องศาเซลเซียส ในสภาวะที่ไม่มีอากาศ พบทั่วไปในสิ่งแวดล้อม เช่น ดิน น้ำ น้ำทะเล บ่อปลา อาหารสด
แบคทีเรียชนิดนี้มีความสำคัญมากในอุตสาหกรรมอาหารกระป๋องที่มีความเป็นกรดต่ำ เนื่องจากในสภาพที่เป็นกรดต่ำ หากมีการฆ่าเชื้อไม่สมบูรณ์ (Inadequate) อันเกิดจากการกำหนดเวลา หรืออุณหภูมิไม่ถูกต้อง ความผิดพลาดของเครื่องจักรหรือความผิดพลาดของผู้ควบคุม เซลล์จะถูกทำลาย แต่สปอร์ของเชื้อยังมีชีวิตอยู่ เมื่อสภาวะเหมาะสมสปอร์จะ งอก (Germinate) และเจริญแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้น ขณะที่เชื้อเจริญจะสร้างสารพิษนิวโรทอกซิน (Neurotoxin) ออกมาปนเปื้อนในอาหาร สารพิษนี้มีผลทำลายระบบประสาท การบริโภคอาหารที่มีสารพิษนี้ปนเปื้อนเข้าไปเพียง 1 ไมโครกรัม จะทำให้เกิดอาการป่วยที่เรียกว่า โบทูลิซึม (Botulism) ทำให้มองเห็นภาพซ้อน คลื่นไส้ อาเจียน หน้ามืด เป็นอัมพาต หายใจขัด และเสียชีวิต เนื่องจากระบบหายใจล้มเหลว อาการจะเกิดขึ้นใน 12-36 ชั่วโมง หลังจากบริโภคอาหาร และอาจจะเสียชีวิตภายใน 3-6 วัน
รายงานการแพร่ระบาดของโรคนี้ในประเทศไทย ยังมีการศึกษาและบันทึกข้อมูลไว้ไม่มากนัก แต่จากการศึกษาโดยศูนย์การแพทย์เชียงใหม่ พบว่า ในเดือนพฤศจิกายน 2526 มีผู้ป่วยที่มีประวัติหน่อไม้อัดปี๊บจำนวน 10 ราย ผู้ป่วยทุกรายมีอาการปากแห้ง หนังตาตก เสียงแหบ แขนขา อ่อนแรง อาเจียน เจ็บคอ เห็นภาพซ้อน ปวดท้อง และอุจจาระร่วง ผู้ป่วยมีอาการหนัก 4 ราย และเสียชีวิต 1 ราย ซึ่งเกิดจากการบริโภคสารพิษของ คลอสตริเดียม โบทูลินัม ในหน่อไม้อัดปี๊บ ดังกล่าว

สำหรับอาหารกระป๋องที่มีความเป็นกรด ความเป็นกรดจะยับยั้งการงอกของสปอร์ จึงไม่มีการแบ่งตัวและเพิ่มจำนวนของเชื้อ อีกทั้งความเป็นกรดยังช่วยให้ใช้ความร้อนในการทำลายเซลล์ของเชื้อได้ง่าย ขึ้น ดังนั้นในการผลิตอาหารกระป๋องบางชนิด จะมีการปรับค่าความเป็นกรด (Acidified food) เพื่อหลีกเลี่ยงการให้ความร้อนสูงในการฆ่าเชื้อ ทำให้คงสภาพเนื้อสัมผัสของอาหารและลดต้นทุนการผลิต

การป้องกันการสร้างพิษของเชื้อ คลอสตริเดียม โบทูลินัม ทำได้โดยการทำลายเซลล์และสปอร์ของเชื้อให้หมด หรือยับยั้งสปอร์ไม่ให้งอกเป็นเซลล์ ทำให้ไม่มีการเพิ่มจำนวนของเซลล์ และไม่มีการสร้างสารพิษปนเปื้อนสู่อาหาร ซึ่งในขบสวนการผลิตอาหารกระป๋องสามารถป้องกันการสร้างสารพิษของเชื้อ คลอสตริเดียม โบทูลินัม ได้ดังนี้

1.การให้ความร้อน การให้ความร้อนที่เกินพอจะสามารถป้องกันและยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อ คลอสตริเดียม โบทูลินัม ได้ โดยในการให้ความร้อนนั้นจะต้องให้ความร้อนในระดับที่สามารถทำลายสปอร์ได้ ในการกำหนดความร้อนในการฆ่าเชื้อสำหรับอาหารกระป๋อง จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้
     - ปริมาณจุลินทรีย์ขณะให้ความร้อน ปริมาณของเซลล์หรือสปอร์ที่มีอยู่ในอาหาร มีความสัมพันธ์กับอุณหภูมิและระยะเวลาฆ่าเชื้อ ถ้ามีปริมาณเซลล์หรือสปอร์เริ่มต้นมาก จำเป็นต้องใช้อุณหภูมิสูง หรือต้องใช้เวลานานขึ้น

     - ความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิกับเวลา อุณหภูมิและระยะเวลาในการฆ่าเชื้อมีความสัมพันธ์กัน เมื่อเพิ่มอุณหภูมิให้สูงขึ้น ระยะเวลาในการทำลายเซลล์และสปอร์จะลดลง

     - สภาพของจุลินทรีย์ขณะให้ความร้อน ถ้าจุลินทรีย์ที่เหมาะสมก่อนทำการให้ความร้อนในการฆ่าเชื้อ จะทำให้ทนต่อความร้อนได้ดีขึ้น นอกจากนี้สปอร์ที่แห้งจะทำลายได้ยากกว่าสปอร์ที่มีความชื้น

2.การใช้ความเป็นกรด อาหารที่มีสภาวะเป็นกลาง (pH เท่ากับ 7.0) เซลล์และสปอร์ของเชื้อจะทนความร้อนได้ดีกว่าในอาหารที่มีความเป็นกรดหรือ ด่าง การเพิ่มความเป็นกรด จะทำให้จุลินทรีย์ถูกทำลายด้วยความร้อนได้ง่ายขึ้น

3.การควบคุมค่าวอเตอร์แอคติวิตี้ (aw) คือปริมาณน้ำอิสระที่จุลินทรีย์สามารถนำไปใช้ได้ ค่า aw ของอาหารมีความสำคัญต่อการเจริญและสร้างสารพิษของเชื้อ คลอสตริเดียม โบทูลินัม เนื่องจากสปอร์ของเชื้อจะถูกยับยั้งที่ aw ประมาณ 0.93 หรือต่ำกว่า ทำให้สปอร์ไม่สามารถงอกหรือเจริญเพิ่มจำนวนได้

4.การควบคุมโดยใช้ความเย็น เชื้อ คลอสตริเดียม โบทูลินัม จะเจริญได้ดีในช่วงอุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส ถึงมากกว่า 45 องศาเซลเซียสเล็กน้อย โดยที่อุณหภูมิน้อยกว่าหรือเท่ากับ 10 องศาเซลเซียส เช่น ที่อุณหภูมิตู้เย็น เชื้อ คลอสตริเดียม โบทูลินัม จะผลิตสารพิษได้น้อยลง
ในการเลือกซื้ออาหารกระป๋อง ถ้าหากอาหารกระป๋องมีการปนเปื้อนด้วยสารพิษของเชื้อ คลอสตริเดียม โบทูลินัม ผู้บริโภคอาจไม่สามารถสังเกตได้จากสภาพของกระป๋องภายนอก เพราะบางครั้งอาจจะไม่มีการบวมของกระป๋อง แม้ว่าจะมีเชื้อเจริญและมีการสร้างสารพิษแล้ว ดังนั้น จึงควรเลือกซื้ออาหารกระป๋องที่มีเครื่องหมาย อย. หรือได้รับการรับรองจากหน่วยงานหรือสถาบันที่มีชื่อเสียงที่เชื่อถือได้ และเนื่องจากสารพิษนี้ไม่สามารถทนความร้อนได้ และถูกทำลายได้ที่อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส ในเวลา 10 นาที ดังนั้น จึงควรถ่ายอาหารใส่ภาชนะที่เหมาะสมและต้มให้เดือดนาน 10-15 นาที ก่อนบริโภค เพราะสามารถทำลายสารพิษได้ทั้งหมด ผู้บริโภคก็จะสามารถบริโภคอาหารกระป๋องได้อย่างมั่นใจว่า ปลอดภัยจากเชื้อโรคร้ายอย่าง คลอสตริเดียม โบทูลินัม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น